3 วิธีจัดการ PVD ในวิกฤต “โควิด”

21 พฤษภาคม 2563
อ่าน 3 นาที
ช่วงวิกฤตโควิดนี้ ใครเปิดรายงานผลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) อาจจะใจแป้วเล็กน้อยกับผลตอบแทนที่ลดลงจนแทบจะหมดกำลังใจ แต่อย่าเพิ่งวิตกไปเลย เพราะตลาดทุนกับความผันผวนมาคู่กันเสมอ 

ศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้มุมมองสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลดลงตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ว่า แม้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดบ้าง แต่เป็นสัดส่วนที่น้อย 

ข้อมูล ณ มีนาคม 2563 มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ที่ขาดทุน 10% ขึ้นไป โดยแนวโน้มน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากสถานการณ์คลี่คลายในเดือนเมษายน เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่ถึง 82% อยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูง

 



อีกด้านหนึ่งของผลกระทบโควิด-19 อาจทำให้พนักงานบางคนจำเป็นต้องออกจากงานด้วยเหตุผลแตกต่างกันไปของนายจ้าง ซึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เก็บสะสมมานั้น แม้ออกจากงานแล้ว ยังสามารถ “คงเงิน” ไว้ที่กองทุนเดิมได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน โดยเงินที่คงไว้จะได้รับเงินผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป แต่จะไม่ได้เงินสมทบจากนายจ้างเดิม หากเกินระยะเวลาที่กำหนดอาจมีค่าใช้จ่ายรายปีเพิ่มเข้ามา โดยสมาชิกสามารถจัดการได้ 3 วิธี คือ  

1. ออกจากงาน... รอโอนย้ายไป PVD ของนายจ้างใหม่ โดย “คงเงิน” ไว้ที่เดิมก่อน เมื่อได้งานใหม่จึงค่อยโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ก็ได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการย้ายกองแต่อย่างใด

2. ออกจากงาน... โอนเงินไป RMF for PVD กรณีที่นายจ้างใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเปลี่ยนใจไปทำอาชีพอิสระ หรือนายจ้างเดิมยกเลิกกองทุนไป ก็สามารถโอนย้ายไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF for PVD เพราะนอกจากจะทำให้ไม่เสียภาษีแล้ว ยังช่วยให้เงินลงทุนทำงานต่อเนื่อง ตามแผนการออมระยะยาว

ข้อควรรู้คือ เงินลงทุนที่โอนจาก PVD ไป RMF แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมา PVD ได้อีก แต่สามารถย้ายกองทุนหรือเปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องเป็นการสับเปลี่ยนระหว่างกองทุน RMF ด้วยกัน เงื่อนไขการถอนเงินจาก RMF for PVD เหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม นั่นคือ หากต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็ต้องถืออย่างน้อย 5 ปี โดยจะนับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โอนไป และต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป

3. กลับมาใหม่... เมื่อวิกฤตผ่านไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ทำให้ต้องออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตอนนี้ หากในอนาคตมีโอกาสใหม่ควรกลับมาเป็นสมาชิกกองทุนอีกครั้ง เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือการออมระยะยาวที่ได้เปรียบกว่าการออมการลงทุนรูปแบบอื่น นอกจากลดหย่อนภาษีแล้ว ยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง บริหารจัดโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ ค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนดีจากการลงทุน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นทางเลือกในการออมสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนสามารถบรรลุเป้าหมายมีเงินใช้ในวัยเกษียณได้ง่ายขึ้น
-----------------------------------
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์